เมนู

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่บนบก


พึงทราบวินิจฉัยในทรัพย์ที่ตั้งอยู่บนบก. สองบทว่า ถเล นิกฺขิตฺตํ
ความว่า ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาวางไว้บนพื้นดินก็ดี บนพื้นปราสาทและบนภูเขา
เป็นต้นแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งปกปิดหรือไม่ปกปิดก็ดี พึงทราบว่า ทรัพย์ที่ตั้ง
อยู่บนบก. ทรัพย์นั้น ถ้าเขาทำเป็นกองไว้ พึงตัดสินตามคำวินิจฉัยที่กล่าวไว้
ในการทำทรัพย์ให้อยู่ในภาชนะและการตัดกำเอาในภายในหม้อ. ถ้าทรัพย์นั้น
ติดเนื่องเป็นอันเดียวกัน มียางรักและยางสนเป็นต้น พึงตัดสินตามคำวินิจฉัย
ที่กล่าวไว้ในน้ำผึ้งและน้ำอ้อยที่เคี่ยวสุกแล้ว. ถ้าทรัพย์เป็นของหนัก จะเป็น
แท่งโลหะก็ตาม งบน้ำอ้อยก็ตาม วัตถุมีน้ำมันน้ำผึ้งและเปรียงเป็นต้นก็ตาม
ซึ่งเนื่องด้วยภาระ พึงตัดสินตามคำวินิจฉัยที่กล่าวไว้ในการยังหม้อให้เคลื่อน
จากฐาน และพึงกำหนดความต่างของฐานแห่งสิ่งของเขาผูกไว้ด้วยโซ่. ส่วน
ภิกษุถือเอาวัตถุมีผ้าปาวารผ้าลาดพื้นและผ้าสาฎกเป็นต้นที่เขาปูลาดไว้ ฉุดมา
ตรงๆ เมื่อชายผ้าข้างโน้นล่วงเลยโอกาสที่ชายผ้าข้างนี้ถูกต้องไป เป็นปาราชิก.
ในทุก ๆ ทิศ ก็ควรกำหนดด้วยอาการอย่างนี้. ภิกษุห่อแล้วยกขึ้น เมื่อทำให้
ลอยไปในอากาศ เพียงปลายเส้นผม เป็นปาราชิก. ทำที่เหลือมีนัยดังกล่าว
แล้วนั่นเอง ฉะนี้แล.
จบกถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่บนบก

กถาว่าด้วยทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ


พึงทราบวินิจฉัยในของที่อยู่ในอากาศ. สำหรับนกยูง พึงทราบการ
กำหนดฐานโดยอาการ 6 อย่าง คือ ข้างหน้ากำหนดด้วยจะงอยปาก ข้างหลัง
กำหนดด้วยปลายลำแพนหาง ข้างทั้ง 2 กำหนดด้วยปลายปีก เบื้องต่ำกำหนด
ด้วยปลายเล็บเท้า เบื้องบนกำหนดด้วยปลายหงอน. ภิกษุคิดว่า จักจับนกยูง
ซึ่งมีเจ้าของ อัน (บิน) อยู่ในอากาศ ยืนอยู่ข้างหน้า หรือเหยียดมือออก.
นกยูงกางปีกอยู่ในอากาศนั่นแหละ กระพือปีกแล้วหยุดบินยืนอยู่ เป็นทุกกฏ
แก่ภิกษุนั้น, ไม่ให้นกยูงนั้นไหว เอามือลูบคลำ เป็นทุกกฎเหมือนกัน,
ไม่ให้เคลื่อนจากฐาน ให้ไหวอยู่ เป็นถุลลัจจัย. ส่วนจะเอามือจับหรือไม่จับ
ก็ตาม ให้ปลายลำแพนหางล่วงเลยโอกาสที่จะงอยปากถูก หรือให้จะงอยปาก
ล่วงเลยโอกาสที่ปลายลำแพนหางถูก, ถ้านกยูงนั้น ได้ราคาบาทหนึ่งไซร้,
เป็นปาราชิก. อนึ่ง ให้ปลายปีกข้างขวา ล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างซ้ายถูก
หรือให้ปลายปีกข้างซ้าย ล่วงเลยโอกาสที่ปลายปีกข้างขวาถูก ก็เป็นปาราชิก.
อนึ่ง ให้ปลายหงอน ล่วงเลยโอกาสที่ปลายเล็บเท้าถูก หรือให้ปลายเล็บเท้า
ล่วงเลยโอกาสที่ปลายหงอนถูก ก็เป็นปาราชิก. นกยูงบินไปทางอากาศ จับที่
บรรดาอวัยวะมีศีรษะเป็นต้น อันใด, อวัยวะอันนั้น เป็นฐานของนกยูงนั้น.
เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นแม้เมื่อทำนกยูงตัวนั้น ซึ่งเกาะอยู่ที่มือให้ส่ายไปข้าง
โน้นและข้างนี้ ชื่อว่าทำให้ไหวแท้. และถ้าเธอเอามืออีกข้างหนึ่งจับให้เคลื่อน
จากฐาน เป็นปาราชิก. ภิกษุยื่นมืออีกข้างหนึ่งเข้าไปใกล้, นกยูงโดดไปเกาะ
ที่มือนั้นเสียเอง ไม่เป็นอาบัติ. ภิกษุมีไถยจิต รู้ว่านกยูงจับที่อวัยวะ ย่างเท้า
ก้าวแรก เป็นถุลลัจจัย, ก้าวที่สอง เป็นปาราชิก. นกยูงจับอยู่บนพื้นดิน